สงกรานต์นี้อาจไม่สนุก! สธ.ปรับ5จว.เป็น‘สีแดง’คุมผับบาร์ห้ามดื่ม-ปิด3ทุ่ม

สธ.เคาะมาตรการคุมผับ บาร์ สถานบันเทิง ปรับระดับสีพื้นที่ใหม่ งัดพื้นที่สีแดงควบคุมสูงสุดใช้กับ 5 จังหวัด เปิดได้ไม่เกิน 3 ทุ่ม ห้ามดื่มสุรา ชง‘ศบค.’ชุดเล็กพุธนี้ บังคับใช้ 2 สัปดาห์ ขออสม.เข้มสงกรานต์คนเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง

วันที่ 5 เม.ย.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้ประเทศไทยติดเชื้อ 194 ราย โดยติดเชื้อในประเทศ 182 ราย มี 2 กลุ่มใหญ่ คือ ผู้ต้องขังเรือนจำนราธิวาส แต่ไม่เป็นปัญหา ใช้มาตรการ Bubble and Seal เหมือนโรงงานและห้องกักตัว ตม.บางเขน อีกกลุ่มคือการระบาดในสถานบันเทิง นักเที่ยว พนักงาน นักดนตรี พื้นที่ กทม. ปริมณฑล และมีการเดินทางไปหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น มาตรการต้องเข้มมากขึ้น เพราะตอนนี้ใกล้เทศกาลสงกรานต์ ดังนั้นคณะกรรมการด้านวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงประชุมเมื่อเช้าวันที่ 5 เม.ย. โดยมีมติ คือ 1.ให้กรมควบคุมโรคกำหนดพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสุงสุด และพื้นที่เฝ้าระวัง หรือปรับระดับสีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อดำเนินการได้ตรงสถานการณ์

2.ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีประชาชนกลับภูมิลำเนา ขอให้อสม.ในจังหวัดปลายทางติดตามผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะสถานบันเทิงจาก กทม. และปริมณฑล เพื่อแนะนำไปตรวจหาเชื้อ และฟังมาตรการตามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด 3.มอบกรมควบคุมโรควางแผนเฝ้าในกลุ่มเสี่ยง เน้นสถานบันเทิง ผับบาร์ โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล เบื้องต้น กทม.มีสถานบันเทิงพันกว่าแห่งจะมีการจัดระบบเฝ้าระวังสม่ำเสมอ 4.ให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง ให้อสม.เคาะประตูบ้าน 5.รพ.ทุกแห่งซักประวัติคนไข้ต้องสงสัย โดยเฉพาะการไปเที่ยวสถานบันเทิงเพื่อตรวจหาเชื้อได้ทัน 6.ให้สถาบันบำราศนราดูร และสถบันป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เปิดบริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด บริการประชาชนที่สงสัยต้องการตรวจหาเชื้อโควิด และ7.ทุกจังหวัดพิจารณานำวัคซีนเพื่อการควบคุมโรคตามคำแนะนำคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า หลังประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ ได้มีการศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีโรคโควิด 19 ซึ่งมีปลัดสธ.เป็นประธาน นำมติของคณะกรรมการด้านวิชาการข้อแรกมาพิจารณา คือเรื่องกำหนดเขตพื้นที่หรือปรับสีพื้นที่ ที่ประชุมดูตามสถานการณ์แล้วกำหนดว่า ในจังหวัดที่สถานการณ์โรคดูเหมือนมีกำลังเพิ่มขึ้นให้ปรับเป็นสีแดง โดยเฉพาะถ้ามีการเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงที่มีการเดินทางจำนวนมาก ส่วนจังหวัดสีส้มพิจารณาจากที่มีผู้ติดเชื้อเดินทางไปจังหวัดนั้น เพราะฉะนั้นจากเกณฑ์ที่หนดจึงปรับระบดับพื้นที่ดังนี้

1.พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) มี 5 จังหวัด ได้แก่ กทม. ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และนครปฐม มาตรการ คือร้านอาหารเปิดไม่เกิน 21.00 น. นั่งรับประทานอาหารได้ งดดื่มสุราห้ามจำหน่ายจ่ายแจก สถานบันเทิงผับบาร์เปิดได้ 21.00 น. รับประทานอาหารได้ ห้ามจำหน่ายจ่ายแจกสุรา เนื่องจากสถานการณ์มีความเสี่ยงอยู่ที่สถานบันเทิงและการดื่มสุราจึงต้องมีมาตรการเข้มงวด ส่วนศูนย์การค้าห้างสรรพสินค้าเปิดตามปกติ แต่ดำเนินการแบบนิวนอร์มัล เช่น สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง สแกนวัดอุณหภูมิ ไทยชนะ ด้านสถานศึกษาเปิดได้ตามปกติหรือเรียนผสมผสาน สถานที่ออกกำลังกายเปิดได้ หรือแข่งขันได้แบบจำกัดผู้ชม

2.พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) มี 9 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชุมพร ตาก ราชบุรี ชลบุรี สุพรรณบุรี นราธิวาส และกาญจนบุรี มาตรการคือ ร้านอาหารนั่งกินดื่มในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. สถานบันเทิงดื่มสุราได้ไม่เน 23.00 น. เล่นดนตรีได้แต่งดเต้นรำ ศูนย์การค้า สถานศึกษา เปิดตามปกติ สถานออกกำลังกายเปิดได้ แข่งขันกีฬากำหนดผู้เข้าชม

3.พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด (สีเหลือง) มี 10 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ระนอง ระยอง สงขลา ยะลา และขอนแก่น มาตรการคือ ร้านอาหารกินดื่มในร้านได้ไม่เกิน 24.00 น. สถานบันเทิงเปิดได้ไม่เกิน 24.00 น. ดื่มสุราได้ เล่นดนตรีสดได้ งดเต้นรำ ศูนย์การค้า สถานศึกษา สถานออกกำลังกายเปิดตามปกติ และ 4.พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) คือ 53 จังหวัดที่เหลือ ทุกอย่างเปิดตามปกติตามกฎหมายที่ควบคุม

“มาตรการนี้จะเสนอ ศบค.ชุดเล็กต่อไป เพื่อบังคับตามกฎหมาย คาดว่าจะเสนอได้วันที่ 7 เม.ย.นี้ โดยไม่ต้องเข้า ศบค.ชุดใหญ่ หรืออาจเจ้าเพื่อรายงานให้ทราบ ซึ่งจะบังคับใช้ 2 สัปดาห์และจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการบังคับอย่างไร ความร่วมมือของประชาชนเป็นสำคัญมาก บางคนไปปาร์ตี้ต่อที่บ้านหรือไปร้านอื่นก็จะทำให้สถานการณ์ควบคุมไม่ง่าย”

นพ.โอภาส ระบุด้วยว่า การติดต่อโรคมาจาก 2 อย่างคือ 1.สถานที่เสี่ยง คือ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ความแออัด และ 2.พฤติกรรมเสี่ยง คือ ปฏิสัมพันธ์พบปะพูดคุยโดยไม่ใส่หน้ากาก ดื่มสุรา กินอาหาร ดังนั้น อย่าพาตัวเองไปจุดเสี่ยง หรือเกิดพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะสงกรานต์รอบนี้อาจไม่สนุก แต่ปีนี้ก็ยังมีเทศกาลสงกรานต์ สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ได้ แต่การสาดน้ำ กิจกรรมคนแออัด ขอให้งดเว้น ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นคงดำเนินการใช้ชีวิตตามปกติต่อไป

ที่มาข่าวสด

(Visited 12 times, 1 visits today)

You May Have Missed

error: Content is protected !!