ผู้หนีภัยสู้รบ 7 พันคน จ่อชายแดนไทย ด้านทหารพม่าขู่โจมตีอีก ชาวไทใหญ่เร่งทำที่หลบ
ผู้หนีภัยการสู้รบ 7 พันคน จ่อชายแดนริมแม่น้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน ด้านชายแดนเชียงรายเครียดหลังทหารพม่าขู่โจมตี ชาวไทใหญ่ 6 พันคนในค่ายผู้พลัดถิ่นเร่งทำบังเกอร์
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2564 สถานการณ์ในบริเวณชายแดนทหารไทย-พม่ายัง ริมแม่น้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน ยังคงตึงเครียด แม้จะไม่มีเสียงเครื่องบินและเสียงระเบิด แต่ทหารพม่ายังคงใช้โดรนบินสำรวจพื้นที่ตามแนวตะเข็บขายแดนโดยเฉพาะบริเวณที่เป็นฐานทหารกะเหรี่ยงของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ขณะที่ชาวบ้านที่หลบหนีภัยการสู้รบยังคงหลบอยู่ตามป่าและจำนวนมากพังพิงอยู่ริมแม่น้ำสาละวินในฝั่งรัฐกะเหรี่ยง เนื่องจากทหารไทยได้ตรึงพื้นที่และห้ามข้ามเขตแดน โดยตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะจุดที่ลงแม่น้ำได้มีการนำลวดหนามไปกั้นไว้ เพื่อป้องกันคนนอกและสื่อมวลชนผ่าน ขณะที่การบริจาคข้าวของที่ประชาชนนำไปช่วยเหลือก็ยังไม่สามารถทำได้
ทั้งนี้เครือข่ายผู้หญิงลุ่มน้ำสาละวินและมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ได้นำรถกระบะบรรทุกสิ่งของ เช่น ข้าว น้ำดื่ม นมผม เสื้อผ้า เดินทางไปยังบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย เพื่อนำไปช่วยเหลือชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบ แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากทหารพรานที่ประจำจุดตรวจด่านผ่อนปรนแม่สามแลบ
นายสันติพงศ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล กล่าวว่าทราบว่ามีผู้หนีภัยการสู้รบนับพันคนมาแตะแผ่นดินไทยแล้ว แต่ถูกผลักดันกลับซึ่งไม่แน่ใจว่าสมัครใจหรือไม่เพราะย้อนแย้ง เนื่องจากเข้ามาได้เพียงชั่วข้ามคืนก็ต้องกลับทั้งๆ ที่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น แต่ในเบื้องต้นเรื่องข้าว ปลา อาหาร น้ำดื่มและยา ควรนำมาช่วยเหลือก่อน แต่น่าเสียดายที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้เข้าโดยบอกให้ทำเรื่องขออนุญาตอย่างเป็นทางการจากนายอำเภอ
“ตอนแรกเราหวังว่าจะฝากทหารเข้าไปเพราะเราเข้าไปไม่ได้ แต่เขาไม่รับฝาก เราอยากให้กลุ่มผู้หญิงลุ่มน้ำสาละวินเข้าไปได้ อยากให้สร้างการมีส่วนร่วม ควรให้ชุมชนมีส่วนร่วมเพราะอย่างน้อยพูดภาษาเดียวกัน ตอนนี้มีคนติดต่อที่จะร่วมบริจาคกันเยอะ คนทั้งประเทศต่างเป็นห่วง เรื่องนี้เป็นหน้าตาของประเทศ เพราะเป็นสยามเมืองยิ้ม ก็ต้องช่วยเหลือกันเมื่อเห็นคนตกอยู่ในสภาวะแบบนี้ ไม่ได้เลือกว่าชาติอะไร สัญชาติอะไร เหนือสิ่งอื่นใดคือเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน” นายสันติพงษ์ กล่าว
ด้านนายมามะ ผู้ประสานงานด้านสาธารณะสุขชายแดน ในรัฐกะเหรี่ยง ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมามีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบจากการที่ทหารพม่าโจมตีที่เดปู่โน่กว่า 20 คน และส่งมารักษาที่ประเทศไทย 7 คน ที่เหลือส่งไปยังสถานพยาบาลที่ใกล้ๆ ส่วนใหญ่ที่ส่งมาคือคนที่ได้รับบาดเจ็บหนักและผู้หญิงที่คลอดลูกยาก และคนที่จะส่งมานั้นได้มีการตรวจโควิดแล้ว ทั้งนี้ อยากขอความช่วยเหลือจากนายอนุทินใน 3 ข้อ คือ 1.ร่วมมือกันป้องกันโควิดเพราะพื้นที่ติดกัน 2.คนไข้ที่เจ็บป่วยหนักขอให้ทางไทยช่วยรับไว้ 3.ต้องการช่วยเหลือด้านวัคซีนต่างๆ
นายมามะ กล่าวว่า สถานการณ์ของชาวบ้านฝั่งรัฐกะเหรี่ยงในขณะนี้ยังหนักโดยมีชาวบ้านต้องหลบซ่อนอยู่ตามป่ากว่า 1 หมื่นคน เนื่องจากกลัวอันตรายจากการโจมตีของทหารพม่า และมีจำนวน 7,000 คนที่หลบหนีมาอยู่ริมชายแดนแม่น้ำสาละวินเพราะต้องการข้ามมายังพื้นที่ปลอดภัย จึงอยากขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้บุคลลหรือองค์กกรที่ต้องการช่วยเหลือได้เข้าไปช่วยเหลือคนเหล่านี้ ถ้าส่งอาหารและเสบียงให้ได้ เขาคงไม่หลบหนีเข้าไทย แต่หากส่งไม่ได้และเขาไม่มีกินก็คงทะลักเข้ามา ซึ่งขณะนี้พี่น้องกะเหรี่ยงฝั่งไทยได้รวบรวมข้าวของเพื่อช่วยเหลือแต่ติดปัญหาไม่สามารถส่งไปได้
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งได้สวมเสื้อกะเหรี่ยง เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลแม่สะเรียง และลงพื้นที่หมู่บ้านแม่สามแลบว่า จ.แม่ฮ่องสอน ว่าได้นำวัคซีนป้องกันโรคโควิดจำนวน 2,000 โดส มามอบ ซึ่งเป็นส่วนที่กันไว้สำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะมีการระบาด นอกจากนี้เป็นห่วงบุคลากรสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ขณะเดียวกันคนที่หนีภัยสงครามได้รับความช่วยเหลือพอสมควร และมีการรับคนเจ็บเข้ามารักษาซึ่งเราเต็มใจทำ
รมว.สธ. กล่าวอีกว่า ผู้ที่หนีภัยการสู้รบ ทางฝ่ายความมั่นคงได้ตรึงกำลังเอาไว้ไม่ให้เข้ามา แต่ใครเจ็บป่วยก็รักษา ถ้าจำเป็นในการดูแลจริงๆ ก็จะสร้างโรงพยาบาลสนามเป็นไปตามหลักสากล มีขั้นตอนในการปฎิบัติ เช่น มีการระบาดโควิดในกลุ่มนี้ เราก็ต้องดูแลโดยตั้งโรงพยาบาลสนาม
“คนที่เจ็บป่วยจากการสู้รบเราต้องรักษาเขาให้หายก่อน พอหายแล้วเขาก็แยกย้ายกันกลับบ้านไป ในส่วนของรัฐบาลไทยคำนึงถึงเรื่องมนุษยธรรมมากกว่า ถ้าสถานการณ์แบบนี้มัวแต่คำนึงถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่เราเห็นเพื่อนร่วมโลกทนทุกข์ทรมานก็คงไม่ได้ เราต้องเซฟชีวิตคนไว้ก่อน” นายอนุทิน กล่าว
วันเดียวกัน เพจ Shan State Refugee Committee -Thai Border ของเครือข่ายไทใหญ่ ได้ออกประกาศแจ้งเตือนฉุกเฉิน จากคณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (Shan State Refugee Committee) โดยระบุว่าผู้พลัดถิ่นในประเทศ 6,000 คนทางตอนใต้ของรัฐฉานใกล้พรมแดนไทย เสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากกองทัพพม่าเป็นอย่างมาก
“คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉานกังวลอย่างยิ่งกับความปลอดภัยของผู้พลัดถิ่นในประเทศเกือบ 6,000 คนทางใต้ของรัฐฉานบริเวณพรมแดนประเทศไทย ที่หนีภัยจากประหัตประหารจากกองทัพพม่ามาเกือบ 20 ปี ภายหลังกองทัพพม่าประกาศเริ่มโจมตีบริเวณพรมแดนซึ่งเป็นที่ตั้งของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพแห่งทัพชาติรัฐฉาน”
ในเพจดังกล่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม คณะกรรมการประสานงานชายแดนไทย-เมียนมา เมืองท่าขี้เหล็ก (Township Border Committee / TBC ) ส่งจดหมายไปยังคณะกรรมการของไทยที่อำเภอแม่สาย แจ้งให้ทราบถึงความจำเป็นที่กองทัพพม่าจะต้องโจมตีสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพแห่งชาติรัฐฉาน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพรมแดนประเทศไทย-พม่า ตรงข้ามกับจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอนของไทย เนื่องจากกองทัพแห่งชาติรัฐฉานแสดงจุดยืนเข้าข้างผู้ประท้วงที่ต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพพม่า จดหมายระบุว่า กองทัพพม่าจะพยายามไม่ให้มีกระสุนระเบิดตกเข้ามาในฝั่งไทย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสองประเทศ
เพจดังกล่าวระบุด้วยว่า จากข่าวว่าอาจมีการโจมตีครั้งนี้ สร้างความหวาดกลัวอย่างมากให้กับผู้อยู่อาศัยในค่ายที่พักพิงชั่วคราวตามบริเวณพรมแดนรัฐฉาน-ประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ค่ายที่พักพิงเหล่านี้ตั้งอยู่บนสันเขาโล่ง และอยู่ในระยะที่กองทัพพม่าสามารถยิงปืนใหญ่โจมตีได้ ซึ่งผู้พลัดถิ่นในประเทศมีความหวาดกลัวตลอดมา ตอนนี้ยิ่งเพิ่มหวาดกลัวกับพวกเขามากขึ้นจากข่าวการทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐกะเหรี่ยง ดังนั้นผู้พลัดถิ่นในประเทศยังได้จัดทำบังเกอร์เพื่อหลบภัยในค่ายของตน และเริ่มซักซ้อมการอพยพเพื่อให้สามารถหลบหนีเมื่อเห็นสัญญาณการโจมตีทันที อย่างไรก็ดี หากการโจมตีเริ่มขึ้น หลักประกันความปลอดภัยของพวกเขามีอยู่แค่การข้ามมายังพรมแดนฝั่งไทยเท่านั้น
“คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (พรมแดนไทย) จึงขอวิงวอนอย่างเร่งด่วนต่อรัฐบาลไทย ให้อนุญาตให้ผู้พลัดถิ่นในประเทศเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยทันทีที่เริ่มมีการโจมตี และจัดให้พวกเขามีที่พักพิง ที่หลบภัยอย่างปลอดภัย และเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม”เพจดังกล่าวระบุ และว่า คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (พรมแดนไทย) ประกอบด้วยสมาชิกคณะกรรมการค่ายที่พักพิงของผู้พลัดถิ่นในประเทศทั้งห้าแห่ง และค่ายผู้ลี้ภัยอีกหนึ่งแห่งทางตอนใต้ของรัฐฉาน-พรมแดนประเทศไทย
ที่มาข่าวสด